ทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล
การลงความเห็นจากข้อมูล (Inferring)
หมายถึง การเพิ่มเติมความคิดเห็นให้กับข้อมูลที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล
โดยอาศัยความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย ข้อมูลนี้อาจได้จากการสังเกต
การวัดหรือการทดลอง การลงความเห็นจากข้อมูลต่างกับการทำนายในแง่ที่ว่า การลงความเห็นจากข้อมูลไม่บอกเหตุการณ์ในอนาคต
เป็นเพียงแต่อธิบายความหมายจากข้อมูล โดยอาศัยความรู้และประสบการณ์เดิมมาช่วย
การลงความเห็นจากข้อมูล
เป็นการอธิบายข้อมูลที่ได้จากการสังเกตอย่างมีเหตุผล
โดยอาศัยความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาช่วย มีลักษณะดังนี้
1. ลงข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งต่าง
ๆ แต่ละอย่าง
การลงข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งต่าง
ๆ แต่ละอย่างที่สังเกตได้โดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ เช่น
เห็นสารสีขาวก็บอกว่าเป็นเกลือ โดยยังไม่ได้สังเกตคุณสมบัติเฉพาะอื่น ๆ
ของสิ่งนั้นให้เพียงพอ เช่น ยังไม่ได้สังเกตการละลาย รส เป็นต้น
2. ลงข้อสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ
อธิบายข้อมูลที่ได้จากการสังเกต
โดยอาศัยความรู้หรือประสบการณ์เดิม เช่น เห็นต้นกุหลาบเหี่ยว ใบเป็นรูพรุน
ก็บอกว่าเพราะหนอนกิน ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าคืออะไร แต่อาศัยที่คนอื่นเคยบอกหรือเคยเห็นหนอนกินกุหลาบบ้านอื่น
(ซึ่งถ้าต้องการจะรู้ว่ากุหลาบถูกหนอนกินจริงหรือไม่ก็ต้องสังเกตดูว่า
บริเวณนั้นมีหนอนหรือไม่ ถ้าไม่พบแต่ยังสงสัยอยู่ว่า
หนอนจะเป็นสาเหตุก็ลองตั้งสมมติฐานว่า “หนอนเป็นสาเหตุให้กุหลาบชนิดนี้ตายหรือไม่”)ลัดดาวัลย์ กัณหสุวรรณ (2530 : 6-8) ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับทักษะการลงความเห็นไว้ว่า
ผู้ที่ลงความเห็นจะใช้ผลของการสังเกต
และใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นข้อสรุปลงความเห็น ซึ่งอาจจะดีกว่าการเดาเล็กน้อย
แต่ก็ไม่มีใครทราบว่าผิดหรือถูก
หลายคนมีความเห็นว่า
การลงความเห็นไม่น่าจะยกขึ้นมากล่าวในเรื่องของทักษะกระบวนการทางวิทยา ศาสตร์
แต่ทว่าการลงความเห็นนั้นเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรามักจะทำกันเสมอ
ในชีวิตประจำวัน เช่น เมื่อสังเกตเห็นน้ำเปียกบนถนนก็คิดว่าฝนคงจะตกลงมากระมัง
นอกจากนี้ยังมีการลงความเห็นในปรากฏการณ์อื่น ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น
นักวิทยาศาสตร์จึงได้หาวิธีการที่จะช่วยให้สามารถลงความเห็นได้ใกล้เคียง
ความจริงที่สุด
สำหรับทักษะในการลงความเห็นนั้น
มิใช่ว่าครูจะมุ่งแต่การฝึกให้นักเรียนลงความเห็นอย่างเดียว
แต่จะต้องพยายามให้เด็กเรียนวิเคราะห์ให้ได้ว่า อะไรคือผลของการสังเกต
และอะไรเป็นสิ่งที่เราพูดเอาเอง หรือสรุปลงความเห็นเอาเอง ซึ่งมิใช่ผลของการสังเกต
และให้เน้นว่าเมื่อสังเกตอะไรแล้ว อย่ารีบด่วนสรุปลงความเห็น
เพราะว่าไม่มีอะไรยืนยันว่า ข้อสรุปลงความเห็นนั้นผิดหรือถูก ควรเน้นว่า ข้อมูลใด
ๆ ที่ได้มาจากการลงความเห็นแต่เพียงอย่างเดียวจะถือเป็นข้อยุติไม่ได้
ตัวอย่างการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมทักษะการลงความเห็นจากข้อมูล
ครู : นักเรียนดูสิ่งที่ครูถืออยู่นี้แล้วบอกซิว่า
สังเกตอะไรได้บ้าง
นักเรียน
: เห็นกล่องกลม ๆ สีดำ ฝาสีแดง
ครู
: นักเรียนลองมาจับกล่องใบนี้ เขย่าดูซิว่าเป็นอย่างไร
นักเรียน
: เขย่าแล้วมีเสียงดัง
ครู
: แล้วยังไงอีก
นักเรียน
: มีวัตถุรูปร่างแบน ๆ อยู่ในกล่อง
กิจกรรมนี้จะเห็นได้ว่า
นักเรียนสังเกตได้แต่เพียงกล่องสีดำ ฝาสีแดง เขย่าแล้วมี เสียงดัง ส่วนที่บอกว่า
วัตถุที่อยู่ข้างในรูปร่างแบน ๆ นั้น เขาสังเกตไม่ได้ เขาเพียงได้ยิน
เสียงเท่านั้น แล้วลงความเห็นเลยว่า รูปร่างเป็นอย่างไร
ซึ่งที่บอกมานั้นอาจผิดหรือถูกก็ได้
จากตัวอย่างนี้คงจะช่วยให้เข้าใจถึงทักษะการลงความเห็นได้บ้าง สำหรับทักษะในการลง
ความเห็นนั้นควรจะนับเป็นก้าวหนึ่งที่ก่อให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
แต่ครูจะต้องไม่ลืม กระตุ้นให้นักเรียนหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น